วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ภาวะผู้นำทางวิชาการ


การวิเคราะห์ความเป็นผู้นำทางวิชาการ
ผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นต้องมีความเป็นผู้นำทางวิชาการซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการบริหารงานสถานศึกษา เนื่องจากสถานศึกษาเป็นองค์การที่มีลักษณะแตกต่างจากองค์การโดยทั่วไป เพราะองค์การโดยทั่วไปนั้นจะมีจุดมุ่งหมายและพันธกิจที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับองค์การทางการศึกษา เนื่องจากองค์การทางการศึกษานั้นนอกจากจะมีจุดมุ่งหมายและพันธกิจเหมือนองค์กรทั่วไปแล้ว องค์การทางการศึกษาหรือสถานศึกษานั้นยังมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาอีก ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงจุดมุ่งหมายทั้งสองประการนี้ เพื่อนำให้องค์การบรรลุทั้งเป้าหมายของการบริหารองค์การ และบรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษา คือ การบรรลุถึงคุณภาพของผู้เรียนอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษา
ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรวิเคราะห์ความเป็นผู้นำทางวิชาการของตนเองว่ามีอยู่อย่างไรบ้าง มีจุดดี จุดด้อยอย่างไร และควรพัฒนาอย่างไร
๑. คุณสมบัติข้อแรกที่ผู้บริหารสถานศึกษาควรตรวจสอบตัวเองก็คือ การเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ (Vision) คือ การที่ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถมองเห็นภาพอนาคตของสถานศึกษา ที่เป็นภาพที่มีความเฉพาะเจาะจง และสามารถบรรลุถึงจุดได้ ความสามารถหยั่งรู้ถึงก้าวต่อๆ ไปขององค์การนั้นถือเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้นำ เมื่อสามารถสร้างภาพอนาคตได้ชัดเจนแล้ว ต้องนำเผยแพร่ แก่คณะครูและผู้ร่วมงานอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและเกิดการยอมรับ หากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนก็เป็นความเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นภาพอนาคตที่เป็นที่พึงประสงค์ของทุกคนในสถานศึกษานั้น จากนั้นจึงจะมีผลทำให้ทุกคนรวมพลังเพื่อปฏิบัติตามวิสัยทัศน์นั้น ขณะเดียวกันผู้นำก็อาจจะนำวิสัยทัศน์นั้นไปปฏิบัติด้วยตนเอง
งานวิจัยหลายเรื่องในปัจจุบันต่างยืนยันว่าวิสัยทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของผู้นำ (เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์และคณะ,๒๕๓๘:๖)
ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรวิเคราะห์และตรวจสอบคุณสมบัติข้อนี้เป็นประการแรก
๒. การวิเคราะห์และตรวจสอบคุณสมบัติอื่นซึ่งเป็นองค์ประกอบของคุณลักษณะที่ดีของ
ผู้นำทางวิชาการ ได้แก่ การเป็นผู้มีแนวคิดกว้างไกลในเรื่องของการศึกษา การเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการศึกษา การเป็นผู้มีความตั้งใจแน่วแน่ การเป็นผู้มีพลังพร้อมที่จะทำงาน การเป็นผู้มีความกล้าเสี่ยงและความเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์
ผู้บริหารสถานศึกษาควรวิเคราะห์ตนเองในเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นอย่างมีใจเป็นกลางและ
ประเมินระดับที่ตนมีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือปรับปรุงต่อไป
๓. การตรวจสอบการบริหารงาน ผู้บริหารสถานศึกษาควรตรวจสอบการบริหารงานด้วย
การประเมินงาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานในทางที่เป็นจริงโดยการตรวจสอบหรือประเมินองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น แผนงาน วิธีดำเนินงาน การควบคุม การใช้ทรัพยากร เป็นต้น
การตรวจสอบด้วยการประเมินมีหลายวิธี แล้วแต่จะเลือกใช้ เช่น
๓.๑ การประเมินผู้บริหาร เป็นการประเมินรายบุคคล
๓.๒ การประเมินงาน เป็นการประเมินเนื้องาน กิจกรรม การทดลองเทคนิคใหม่
๓.๓ การประเมินระบบ เป็นการใช้วิธีการประเมินอย่างมีระบบ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมคนในองค์การอันเป็นผลสะท้อนจากพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหาร


บทบาทของการเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา (Instructional Leadership of School Administrators)
เนื่องจากสถานศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน ผู้บริหารสถานศึกษาจึงจำเป็นต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการบริหาร การจัดหลักสูตร โปรแกรมการเรียนการสอน การร่วมกับสมาคมวิชาชีพ ความรอบรู้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและมีวิสัยทัศน์ทางการศึกษา
ศาสตราจารย์ทรัสตี (Trusty,๑๙๘๖) แห่งภาควิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาในสถานศึกษาในฐานะที่เป็นผู้นำทางวิชาการไว้ ๑๗ ประการ คือ
๑. ส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางวิชาการของสถานศึกษา
๒. ส่งเสริมให้ครูนำเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางวิชาการของสถานศึกษาไปปฏิบัติ
๓. สร้างความเชื่อมั่นว่ากิจกรรมของสถานศึกษาและของห้องเรียนสอดคล้องกับ
วัตถุประสงค์ของสถานศึกษา
๔. สร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการทางวิชาการของสถานศึกษาเป็นผลมาจากผลการวิจัย
และการปฏิบัติทางการศึกษา
๕. มีการวางแผนร่วมกับคณะครูเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ทางวิชาการเพื่อให้บรรลุความ
ต้องการของนักเรียน
๖. ส่งเสริมให้ครูนำโครงการทางวิชาการไปปฏิบัติ
๗. ปฏิบัติงานร่วมกับคณะครูในการประเมินผลโครงการทางวิชาการของโรงเรียน
๘. ติดต่อสื่อสารกับครูและนักเรียนด้วยความคาดหวังที่สูงในด้านมาตรฐานทางวิชาการ
๙. ให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมทางสังคมของนักเรียน
๑๐. ให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างเชาวน์ปัญญาของนักเรียน
๑๑. มีการจัดสรรเวลาเพื่องานวิชาการร่วมกับครูไว้อย่างชัดเจน
๑๒. ให้ความร่วมมือกับนักเรียนในการกำหนดระเบียบเพื่อแก้ปัญหาด้านวินัย
๑๓.ร่วมมือกับนักเรียนให้มีการนำระเบียบกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้านวินัย
๑๔.ร่วมมือกับคณะครูให้มีการนำระเบียบกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาใช้ในการแก้ปัญหาด้าน
วินัยของนักเรียน
๑๕.มีการปฐมนิเทศคณะครูเกี่ยวกับโครงการของสถานศึกษา
๑๖. มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของครูอย่างยุติธรรม
๑๗.ช่วยเหลือครูในการพัฒนาระบบงาน เพื่อให้มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพ

องค์ประกอบสำคัญสำหรับผู้นำทางวิชาการ
องค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการเป็นผู้นำทางวิชาการมีดังนี้
๑. มีแนวคิดกว้างไกลในเร่องของการศึกษา
ผู้นำทางวิชาการจะต้องเข้าในงานการศึกษาว่ามีขอบข่ายงานชัดเจนหรือซับซ้อน
อย่างไร ต้องรู้ว่าปัญหาของการศึกษาทั้งในระดับกว้างและระดับลึกมีอะไรบ้าง ในขณะนั้น ปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นคืออะไร ต้องสามารถรังฟังและวิเคราะห์ความต้องการเกี่ยวกับการเรียนการสอนทั้งจากครู นักเรียน และผู้ปกครองได้ สามารถดำเนินการตอบสนองความต้องการหรือจัดการแก้ปัญหาได้
การมีแนวคิดกว้างไกลในเรื่องของการศึกษานี้เป็นคุณสมบัติที่ดี และสำคัญสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการ เป็นเรื่องที่ผู้นำทางวิชาการต้องสั่งสมและพัฒนาขึ้นด้วยการศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองจากประสบการณ์ในการทำงาน จากประสบการณ์ของผู้อื่นและจากการเข้ารับการศึกษา หรือฝึกอบรมเพิ่มเติม การศึกษาดูงาน การมีโอกาสได้เสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ตลอดจนเจตคติกับผู้รู้ จะทำให้พัฒนาคุณสมบัติข้อนี้ได้มากขึ้น
ผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา กระบวนการจัดการเรียนรู้ เป้าหมายการศึกษาของท้องถิ่นและของประเทศ ตลอดจนมีแนวความคิดกว้างไกลและชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการปรับปรุงหรือพัฒนาการเรียนรู้ รวมถึงการพัฒนาการศึกษาในด้านอื่น ๆ ด้วย
๒. ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้นำทางวิชาการจะต้องมีความชำนาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ
การจัดการศึกษา ได้แก่ เรื่องการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กระบวนการปฏิรูปการศึกษา และมีทักษะการนำเสนอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของครูผู้ร่วมงาน เพื่อไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง
มีงานวิจัยหลายเรื่องที่พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาที่ขาดความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำแก่ครูในเรื่องที่ครูต้องการมักจะไม่ได้รับการยอมรับว่าผู้บริหารนั้นเป็นผู้นำทางวิชาการ ครูจะยอมรับว่าผู้บริหารเป็นผู้นำทางวิชาการเมื่อผู้บริหารได้แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอในการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ นิเทศงานให้แก่ครู ให้สำเร็จได้ตามจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา และผู้บริหารที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ก็มักจะมีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลของโรงเรียนด้วย
๓. มีความตั้งในแน่วแน่
ผู้นำทางวิชาการจะต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ในการจะปรับปรุงกระบวนการจัดการ
เรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การศึกษาวิจัยในชั้นเรียนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียน หรือพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน แต่การปรับปรุงและพัฒนามักจะมีอุปสรรคและข้องขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ การจะเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายได้นอกจากจะใช้ความรู้ความสามารถแล้วยังต้องอาศัยความตั้งใจจริงและแน่วแน่ในการที่จะทำงานให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารสถานศึกษาในยุคปัจจุบันที่อยู่ในภาวะขาดแคลนกำลังคน งานธุรการและงานบริหารอื่น ๆ มักจะแย่งเวลาของผู้บริหารไปจากงานวิชาการ แต่ถ้าผู้บริหารมีความเป็นผู้นำทางวิชาการและมีความตั้งใจจริงในการที่จะพัฒนาและปรับปรุงงานวิชาการ การจัดการเรียนรู้ก็จะต้องอดทนที่จะเอาชนะอุปสรรคและหาเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำทางวิชาการให้ได้
สถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จนั้นมักมีผู้บริหารที่มีความเอื้ออาทร และมีความตั้งใจอย่างแท้จริงในการปรับปรุงกระบวนการจัดการศึกษา ประสิทธิผลของสถานศึกษาจะเกิดขึ้นจากการมุ่งมั่นและทำงานหนักของผู้บริหารและบุคลากรทุกคน
๔. การมีพลังพร้อมที่จะทำงาน
ผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำทางวิชาการจะพบว่างานบริหารสถานศึกษานั้นเป็นภาระที่
หนักมาก และใช้เวลามาก เพราะจะต้องบริหารทั้งองค์การ และบริหารงานวิชาการ ลำพังเฉพาะการบริหารองค์การสถานศึกษาก็เป็นงานที่หนักเหมือนกับองค์การประเภทอื่นๆ แล้ว การบริหารวิชาการคือการบริหารการศึกษายิ่งเป็นงานที่หนักกว่า เพราะมีส่วนที่เป็นเรื่องนามธรรมค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องมีพลังมากพอที่จะทุ่มเทให้กับงาน ทั้งพลังกายและพลังใจที่พร้อมจะทำงานด้วยความกระตือรือร้น
๕. กล้าเสี่ยง
ผู้บริหารที่เป็นผู้นำทางวิชาการจะนำเสนอแนวคิดใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการ
เปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดการต่อต้านแนวคิดหรือสิ่งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ผู้นำทางวิชาการต้องใช้ความอดทน มีพลังและกล้าเสี่ยงในการที่จะดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อทำตามแนวคิดนั้น และพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษาของตน
๖. มนุษยสัมพันธ์
ผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการต้องสามารถทำงานกับบุคคลที่หลากหลาย
ได้ เข้าใจความต้องการของบุคคลอื่น ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ปิดกั้นตนเอง รู้จักดึงคนเข้ามาร่วมงาน ยอมรับผิดเมื่อกระทำผิดหรือตัดสินใจผิด ยอมรับการเปลี่ยนแปลง มีความซื่อสัตย์ ยุติธรรมในการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้นำทางวิชาการ ผู้นำแต่ละคนอาจจะมีคุณสมบัติไม่ครบทุกองค์ประกอบก็ได้ แต่จะสามารถพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้ได้
การเป็นผู้นำทางวิชาการ เป็นความสามารถที่ผู้บริหารจำเป็นต้องมีและพัฒนาให้เป็นทักษะเพื่อจะได้นำให้งานจัดการศึกษาของสถานศึกษาดำเนินไปให้บรรลุเป้าหมาย

การประเมินภาวะผู้นำด้วยตนเอง
ผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นต้องมีความเป็นผู้นำทางวิชาการซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการบริหารสถานศึกษา เนื่องจากสถานศึกษาเป็นองค์การที่มีลักษณะแตกต่างจากองค์การโดยทั่วไป เพราะองค์การโดยทั่วไปนั้นมีจุดมุ่งหมายและพันธกิจที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับองค์การทางการศึกษา
เนื่องจากองค์การทางการศึกษานั้นนอกจากจะมีจุดมุ่งหมายและพันธกิจเหมือนองค์การทั่ว ๆ ไปแล้ว องค์การทางการศึกษาหรือสถานศึกษานั้นยังมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาอีก ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงจุดมุ่งหมายทั้งสองประการนี้ เพื่อนำให้องค์การบรรลุทั้งเป้าหมายของการบริหารองค์การ และบรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษา คือการบรรลุถึงคุณภาพของผู้เรียน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษา
ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรวิเคราะห์ความเป็นผู้นำทางวิชาการของตนเองว่ามีอยู่อย่างไรบ้าง มีจุดดี จุดด้อยอย่างไร และควรพัฒนาอย่างไร





หัวข้อในการประเมินภาวะผู้นำทางวิชาการของตนเอง
๑. การวางแผนและจัดระบบงานในสถานศึกษา
๑.๑ การตั้งเป้าหมาย จัดลำดับความสำคัญของงาน และกำหนดแนวปฏิบัติได้
อย่างถูกต้องเหมาะสม
๑.๒ การใช้ทรัพยากร บุคลากร และเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๑.๓ การปฏิบัติงานได้สำเร็จตามเวลาที่กำหนด
๒. การควบคุมและการติดตามผล
๒.๑ มีการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติงานของครูอย่างเป็นระบบ
สม่ำเสมอ
๒.๒ มีการควบคุมการปฏิบัติงานของครูให้บรรลุตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
๒.๓ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามงบประมาณที่ได้รับ
๓. การวิเคราะห์ปัญหาและการตัดสินใจ
๓.๑ มีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบคอบ ทุกแง่มุมและมีข้อยุติ
ในปัญหาอย่างมีเหตุผล
๓.๒ ความสามารถในการกำหนดทางเลือก การปฏิบัติงานได้หลายทางเพื่อให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย
๓.๓ การตัดสินใจในงานที่รับผิดชอบเป็นไปอย่างถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์โดยไม่มีปัญหาติดตามมาในภายหลัง
๔. การสื่อความ
๔.๑ สามารถให้คำแนะนำที่ชัดเจนสมบูรณ์แก่ครู
๔.๒ สามารถเขียนบันทึก รายงานได้กะทัดรัด ชัดเจน และได้ใจความ
๔.๓ สามารถชี้แจง นำเสนอ หรืออภิปรายเรื่องต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย
และตรงกัน
๕. ความรู้เกี่ยวกับงาน
๕.๑ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานและเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับงานวิชาการเป็นอย่างดี
๕.๒ สามารถนำความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานการศึกษา
๕.๓ สนใจติดตามเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ
๖. ความเป็นผู้นำ
๖.๑ การเป็นตัวอย่างที่ดี
๖.๒ การกระตุ้นและให้กำลังใจ
๖.๓ มีศิลปะในการจูงใจหรือโน้มน้าวให้ครูตั้งใจและเต็มใจร่วมมือกันทำงาน
๗. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
๗.๑ มีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงงานและระบบงานให้ดีขึ้น
๗.๒ นำเทคนิคและวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในการทำงาน
๗.๓ มีการพัฒนาวิธีการทำงานให้มีประสิทธิผลกว่าเดิม
๘. การพัฒนาครู
๘.๑ มีการสอนงาน ถ่ายทอดความรู้ให้กับครู
๘.๒ แนะนำวิธีปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม
๘.๓ ส่งเสริมและพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น เช่น การส่งไปอบรมสัมมนา ศึกษาดูงาน เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่และการงาน
๙. การจัดการดำเนินงานทางวิชาการ
๙.๑ การบริหารหลักสูตร
๙.๑.๑ สร้างและปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น
๙.๑.๒ ใช้หลักสูตรสถานศึกษาที่จัดทำขึ้น
๙.๑.๓ มีการประเมินผลการใช้หลักสูตร และนำผลการประเมินมาใช้
๙.๒ การบริหารการเรียนการสอน
๙.๒.๑ มีการเตรียมการสอนโดยจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนสัมพันธ์กัน สอดคล้องกับหลักสูตรและผู้เรียน
๙.๒.๒ จัดการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้
๙.๒.๓ การประเมินผลการเรียนรู้ระหว่างเรียนและนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
๙.๒.๔ จัดแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
๙.๒.๕ มีเอกสาร สิ่งพิมพ์ สื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
๙.๒.๖ มีสถานที่ และระบบการจัดเก็บรักษาสื่อการเรียนรู้ที่พร้อมนำมาใช้
๙.๓ การบริหารการนิเทศภายใจ
๙.๓.๑ วางแผนโครงการนิเทศได้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันปัญหา และความต้องการของผู้รับการนิเทศ
๙.๓.๒ ดำเนินการนิเทศตามแผน โครงการนิเทศ โดยใช้กิจกรรมที่เหมาะสมกับงานและผู้รับการนิเทศ อย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง
๙.๓.๓ ประเมินผลการนิเทศอย่างเป็นระบบ และนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการนิเทศขชองโรงเรียน
๙.๓.๔ ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาการนิเทศ
๙.๔ การบริหารการวิจัยและพัฒนา
๙.๕ การบริหารโครงการทางวิชาการ
๙.๖ การบริหารระบบข้อมูลสารสนเทศ
๙.๗ การบริหารการประกันคุณภาพการศึกษา

เกณฑ์ประเมินความสามารถในการเป็นผู้นำทางวิชาการ ของ สปช.
แต่เดิมสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษา ในส่วนความสามารถในการเป็นผู้นำทางวิชาการ มีเกณฑ์ที่ต้องประเมินทั้งสิ้น ๙ ข้อ ซึ่งเป็นเกณฑ์เดิมที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่
๑. จัดให้มีสื่อการเรียนการสอน เน้นการบำรุงรักษา และกำกับดูแลให้มีการใช้อย่างคุ้มค่า
๒. ดำเนินการนิเทศภายใน โดยมีการเยี่ยมชั้นเรียน ปรึกษาหารือ ให้คำแนะนำ เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๓. จัดและกำกับดูแลการสอนซ่อมเสริมให้บังเกิดผลดีแก่นักเรียน
๔. ดำเนินการวัดผลการเรียนการสอนได้ถูกต้อง สอดคล้องกับระเบียบ และหลักการวัดผลการศึกษา
๕. จัดให้มีการส่งเสริมการใช้ห้องสมุดหรือมุมหนังสือ จนเกิดประโยชน์ต่อนักเรียน
๖. ส่งเสริมให้ครูเข้าร่วมฝึกอบรมสัมมนาเกี่ยวกับเทคนิควิธีการสอนและสื่อ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน
๗. กำกับดูแลให้ครูเตรียมการสอนและบันทึกการสอนให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
๘. ส่งเสริมและสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ให้ครูจัดห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนการสอน
๙. ควบคุมดูแล และส่งเสริมให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักการเรียนรู้และหลักสูตร

อ้างอิง

รุ่งชัชดาพร เวหะชาติ, การบริหารงานวิชาการ
ธีระ รุญเจริญ,ความเป็นมืออาชีพในการจัดและบริหารการศึกษาฯ
ภิเษก จันทร์เอี่ยม เอกสารประกอบการสอนผู้นำทางวิชาการและการพัฒนาหลักสูตร
http://thawinwong-travel.blogspot.com/2008/12/blog-post_22.html

1 ความคิดเห็น: