วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คุณภาพการศึกษากับวิธีคิดเชิงระบบ


คุณภาพการศึกษากับวิธีคิดเชิงระบบ
นางสาวเศรษฐิยา เปรื่องพิชญาธร
นิสิตปริญญาเอก สาขาการบริหารและการพัฒนาการศึกษา
ศูนย์บริการจังหวัดนครราชสีมา รหัสนิสิต 53070560014

ทฤษฎีเชิงระบบเป็นแนวคิดที่มองสิ่งต่างๆรอบตัวเป็นหนึ่งหน่วยของระบบ มีวงจรในการทำงาน คือ มีปัจจัยนำเข้า (INPUT) มีกระบวนการ(PROCES) และผลลัพธ์(OUTCOM) ความเป็นระบบจะเป็นวงจร ผลผลิตรวมย่อมเกิดจากการประสานงานหลายๆระบบ แต่ละหนึ่งหน่วยในการทำงานก็จะมีระบบการทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ผลผลิตจะไหลจากหน่วยการผลิตหนึ่งไปสู่อีกหน่วยหนึ่งอย่างครบวงจร ไม่มีที่สิ้นสุดตามมิติต่างๆ ในเวลาเดียวกัน เช่นระบบการทำงานของร่างกายประกอบไปด้วย ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบการขับถ่าย ซึ่งเป็นระบบอยู่ในร่างกาย แต่ระบบก็ยังมีระบบย่อยๆออกไปอีกทุกระบบทำงานในเวลาเดียวกันแต่แตกต่างหน้าที่กัน เช่นเดียวกับระบบการทำงานในโรงเรียน “ระบบ” ในโรงเรียน เป็นความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ ในองค์กรที่รวมกันให้องค์กรขับเคลื่อนตามบทบาทภารกิจ ซึ่งในการจัดระบบและการบริหารระบบในโรงเรียนนั้นเป็นการจัดกลุ่มมาตรฐานและตัวบ่งชี้กับงานหรือโครงการที่โรงเรียนดำเนินการให้เป็นระบบย่อยๆ การนำกรอบแนวความคิดเชิงระบบของการจัดการ (systematic approach of management) กล่าวคือ การกระทำสิ่งใด ๆ อย่างเป็นระบบที่ต่อเนื่องและตรงตามแนวความคิดดั้งเดิมของวงจรคุณภาพที่เรียกว่า PDCA cycle ซึ่งเสนอรายละเอียดโดย W.Edwards Deming มีขั้นตอนการทำงาน วิธีการทำงานที่เป็นมาตรฐาน และบันทึกการทำงาน แล้วบริหารระบบนั้นด้วยกระบวนการ PDCA Model ที่ประกอบด้วย
1. P = Planning หมายถึง การวางแผน
2. D = Doing หมายถึง การปฏิบัติตามแผน
3. C = Correcting หมายถึง การแก้ไข
4. A = Acting หมายถึง การปฏิบัติหลังการแก้ไข
ระบบย่อยในโรงเรียนที่สะท้อนคุณภาพตามมาตรฐานการประเมินภายนอก 27 มาตรฐาน 91 ตัวบ่งชี้ มีอยู่ 10 ระบบย่อย ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้
1) ระบบหลัก (Core system) ได้แก่ ระบบการเรียนรู้ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และระบบกิจกรรมนักเรียน
2) ระบบสนับสนุน (Support system) ได้แก่ ระบบการนำองค์กร ระบบยุทธศาสตร์ ระบบบริหารจัดการ ระบบการดูแลคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพ ระบบการพัฒนาบุคคลากร ระบบชุมชนสัมพันธ์ และระบบสารสนเทศ
ระบบต่างๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นตัวขับเคลื่อนและต้องทำงานไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดคุณภาพขึ้นมา ฉะนั้นบุคลากรในโรงเรียนต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากการคิดแยกส่วนไม่เกื้อหนุนกันมาคิดใหม่ คือ คิดอย่างมีระบบ (system thinking) การคิดอย่างมีระบบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งวิจารณ์ พานิช, (2548.) ได้กล่าวถึงรูปแบบขององค์การเรียนรู้ว่า วิธีการคิดอย่างมีระบบ System Thinking เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการให้เกิดการเรียนรู้(Learning) ต้องทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ในองค์การเพื่อจะได้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้(Learning organization) เน้นการดึงปัญญาของคนในองค์การ เน้นการทำงานเป็นทีม ใช้สูตรสร้างบรรยากาศ 575 คือสร้าง 5 ลด 7 เสริม 5 คือสร้างให้เกิดวินัย 5 ประการของ Peter Senge, ลดความไร้สมรรถภาพในการเรียนรู้ขององค์การ(Learning disability) และเสริมกิจกรรมที่ช่วยสร้างให้คนในองค์การเกิดการเรียนรู้ 5 ประการ ดังนี้
วินัยทั้ง 5 ประการของ Peter M. Senge ประกอบด้วย
1) Personal Mastery ต้องมีวินัยในตัวเอง มีสติสามารถบังคับตนเองได้ ควบคุมตนเองได้ ปรับปรุงตนเองสม่ำเสมอ มีพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นปกติ กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
2) Mental Model ไม่มีมิจฉาทิฐิ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีจิตใจที่มีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มีความคิดสร้างสรรค์ทั้งคิดเชิงบวก คิดนอกกรอบและคิดแบบบูรณาการ
3) Shared Vision สร้างความฝันร่วมกัน รู้เป้าหมายทั่วทั้งองค์การ ใฝ่ฝันถึงอนาคตร่วมกัน
4) Team Learning มีการเรียนรู้ร่วมกันของทีม สร้างความเข้าใจร่วมกับคนอื่นๆผ่านกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง พยายามหาความเห็นร่วม (Consensus) ที่เหมาะสมต่อองค์การ เปลี่ยนการทำงานจาก ME เป็น WE (จากฉันเป็นเรา)
5) Systemic Thinking คิดเป็นระบบ เห็นภาพรวม (Big picture) มองความเชื่อมโยงของส่วนต่างๆในองค์การ มองให้ออกว่าแต่ละส่วนขององค์การส่งผลกระทบต่อกันและกันอย่างไร
แก่นแท้ของการนำความคิดเชิงระบบมาใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษา คือ การที่บุคลากรในโรงเรียนมองเห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของสิ่งต่างๆ และการมองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และบุคลากรในสถานศึกษาต้องคิดตนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบอีกด้วย หลักการที่น่าท้าทายสำหรับการคิดเชิงระบบคือ การที่บุคลากรมีส่วนร่วมเรียนรู้ในการแก้ปัญหาอย่างเสมอและต่อเนื่อง และนั่นคือสิ่งที่น่าทายสำหรับผู้บริหาร
ตัวอย่าง การคิดเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบ
ครูโรงเรียนมาตรฐานวิทยา ได้รับการต่อว่าจากนักเรียนและผู้ปกครองเรื่องครูไม่มีการใช้สื่อการสอนและไม่ให้การบ้านนักเรียน ในช่วงภาคเรียนที่ผ่านมา ผู้อำนวยการโรงเรียน จึงเรียกประชุมครูและนำคำต่อว่าที่ได้รับมาเล่าให้ที่ประชุมฟัง โดยผู้บริหารถามครูว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
ครูสมสวย เป็นครูที่อาวุโสมากที่สุดในโรงเรียนจึงตอบผู้อำนวยการโรงเรียนไปว่า เมื่อเทอมที่ผ่านมาท่านผู้อำนวยการให้นโยบายกับครูทุกคนให้เตรียมการประเมินรอบที่สอง ครูทุกคนตั้งใจทำงานนั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งผลออกมาน่าพอใจ เพราะโรงเรียนผ่านการประเมินไปได้ทุกมาตรฐาน แต่เนื่องจากงานประเมินเป็นงานที่หนักมาก ครูจึงไม่มีเวลาให้กับการเตรียมการสอนอย่างเต็มที่ทำให้ได้รับการต่อว่าตามที่ผู้อำนวยการได้ข้อมูล
จะเห็นว่าปัญหาดังกล่าว สาเหตุที่แท้จริงนั้น คือ การที่ผู้บริหารให้นโยบายที่ผิดพลาดทำให้ครูทุกคนทุ่มเททำงานตามนโยบายอย่างเต็มที่ นั่นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบและสามารถส่งผลกระทบต่อระบบได้อย่างแน่นอน
ดัดแปลงมาจาก หนังสือการคิดเชิงระบบ เครื่องมือจัดการความซับซ้อนในโลกธุรกิจเขียนโดย Virginia Anderson and Lauren Johnson แปลโดย ดร.วิทยา สุหฤทดำรง และ ศิรศักย เทพจิต. บริษัท อี ไอ สแควร์ พับบลิซซิ่ง จำกัด : 2550
การนำหลักการประกันคุณภาพ (Quality Assurance) เข้าสู่ระบบงานในโรงเรียนและถือว่าเป็นระบบหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนมีระบบการประกันคุณภาพของโรงเรียน ซึ่งเราเรียกว่าการบูรณาการ (Integration) ซึ่งเป็นการประสานกลมกลืนของแผนกลยุทธ์ (Strategies plan) และแผนปฏิบัติการโรงเรียน (Action plan) เป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นคุณภาพนักเรียนเป็นสำคัญ คือผู้เรียนมีคุณธรรม มีความรู้และมีความสุข ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของโรงเรียน การบูรณาการที่มีประสิทธิภาพนั้น จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อองค์ประกอบแต่ละส่วนของระบบมีการดำเนินการที่เชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ การนำแนวคิดการประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance) เข้ามาพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีรูปแบบที่หลากหลายในที่นี้ขอนำเสนอรูปแบบการประกันคุณภาพ (The QA Model) ที่เป็นการประกันคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่า มิติสามเหลี่ยมแห่งการประกันคุณภาพ (The Quality Assurance Triangle)
Defining Quality (QD)


Quality Assurance
(Q A)


Improving Quality Measuring Quality
(QI) (QM)
มิติสามเหลี่ยมแห่งการประกันคุณภาพ เป็นการประกันคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งต้องอาศัยพลังทั้งสามขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันและมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เป็นระบบการทำงานที่ใช้ในการบริการสุขภาพในโรงพยาบาล หากนำมาประยุกต์ใช้ในระบบงานในโรงเรียนจะเกิดมิติที่เป็นระบบขึ้นมาเพื่อใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
1. การกำหนดคุณภาพ (Defining Quality) (QD) การกำหนดคุณภาพคือสิ่งที่ซึ่งสะท้อนให้เห็นค่านิยมขององค์กรในเรื่องการกำหนดคุณภาพ โดยนำนโยบายด้านคุณภาพเป็นข้อกำหนด เป็นมาตรฐานในการดำเนินการ เช่นมาตรฐานด้านการเรียนการสอน มาตรฐานด้านคุณภาพนักเรียน มาตรฐานด้านการบริหารการจัดการและด้านความมีส่วนร่วมของชุมชน โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา ผู้บริหาร คณะครู และคณะกรรมการโรงเรียน เป็นผู้กำหนด นโยบายด้านคุณภาพของโรงเรียน ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน นโยบายด้านคุณภาพเป็นตัวกำหนดระบบการจัดการที่มีคุณภาพและผลลัพธ์ของโรงเรียน
2. การวัดคุณภาพ (Measuring Quality) (QM) เป็นการวัดผลด้านกิจกรรมที่ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในงานประจำ การกำกับติดตามด้านคุณภาพ รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กร การตรวจสอบมาตรฐานในการปฏิบัติและการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
3. การปรับปรุงคุณภาพ (Improving Quality) (QI) เป็นกิจกรรมที่มีขั้นตอนประกอบไปด้วย P D S A เป็นมิติที่ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่องและเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเปรียบเหมือนวงล้อที่ขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง


ภาพที่ 2.7 : วัฏจักร PDSA นำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหา
ที่มา : William, J. Stevenson, Operations Management, 2002: 476.
P = PIAN คือการออกแบบวางแผนเพื่อหาข้อมูลเมื่อเกิดปัญหาและติดขัด
D = DO คือปฏิบัติตามสิ่งตามสิ่งที่กำหนดไว้ว่าควรแก้ปัญหาตรงจุดไหน
S = STUDY/LEARNING คือ การศึกษาเรียนรู้และแก้ปัญหาในการปฏิบัติและตรวจดูในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในการปฏิบัติ เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนวงล้อหมุนไปได้ตลอดเวลา เกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา อย่างไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้อะไรบ้าง เช่น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ร่วมงานทำงานได้ง่ายขึ้น ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
A = Act เป็นการควบคุมกำกับในกาปฏิบัติจากการที่ได้เรียนรู้ เมื่อเกิดการเรียนรู้ จะต้องมองเห็นโอกาสในการพัฒนาทุกอย่างให้ไปพร้อมกันและมีเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้นำไปสู่การวางแผนใหม่ ให้มีการพัฒนาขึ้น ดังนั้นขั้นตอนของ QI จะต้องมี P D S A เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนได้



เอกสารอ้างอิง

เกษม วัฒนชัย. (2545) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์.
เฉลิม ฟักอ่อน. (2551) แนวคิดการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา.
[ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.nites.com (7 กันยายน 2553)
วิจารณ์ พานิชย์. 2551. โมเดลปลาทู. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.il.mahidol.ac.th/km/index.php2about-km/5-article-from-external/4-fish- model.html (30 กันยายน 2553)

1 ความคิดเห็น: