วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สิ่งที่ดีดีที่ได้จากผู้ร่วมงาน


การพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์
โดย เศรษฐิยา เปรื่องพิชญาธร

ศักยภาพการทำงานของมนุษย์ มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการ คือ การคิดและการแสดงออกในการปฏิบัติ ซึ่งทั้งสองประการดังกล่าวนี้ “สมอง” เป็นกลไกที่สำคัญที่สุด องค์กรหรือสถาบัน ซึ่งประกอบด้วย บุคคลที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทันยุคทันสมัย และพัฒนาก้าวหน้าสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ ยิ่งกว่านั้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ช่วยให้บุคคลพัฒนาศิลปะและวิทยาการให้เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาได้ ความคิดคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคนในองค์กร ทำให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงาน พอสรุปได้ ดังนี้
1. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ช่วยให้เกิดการปรับปรุงงาน
2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ช่วยในการแก้ปัญหา
3. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ช่วยในการกำหนดกลยุทธ์
4. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ช่วยในการกระตุ้นให้มีการเสริมสร้างพลังแห่งจินตนาการและเสริมสร้างวิสัยทัศน์ในการทำงาน
5. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นการกระตุ้นให้เกิดผลงานที่แตกต่าง แปลกใหม่และดีกว่าเดิม

ความหมายของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อาจแยกได้เป็น สองคำ คือ ความคิดริเริ่มกับความคิดสร้างสรรค์ สำหรับความคิดริเริ่มคือ ความสามารถที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ เป็นความเริ่มแรกที่ไม่ซ้ำแบบใคร ส่วนความคิดสร้างสรรค์ คือความสามารถที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นโดยอาศัยประสบการณ์ที่มีอยู่เดิม และพัฒนาขึ้นเป็นความคิดใหม่ที่มีต่อเนื่องและมีคุณค่า
กิลฟอร์ด (Guilford อ้างถึงใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2545 : 25)ได้อธิบายว่า เป็นลักษณะการคิดอเนกนัย
(Divergent Thinking) คือความคิดหลายทิศทาง หลายแง่หลายมุม คิดได้กว้างไกลความคิดอเนกนัยนี้ประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้
1. ความคิดดั้งเดิม (Originarity) เป็นความคิดที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใคร
2. ความคิดฉับไว (FluEncy) เป็นความคล่องในความคิดเรื่องเดียวกันที่พรั่งพรูออกมาโดยไม่ซ้ำแบบกันเลยในเวลาที่กำหนด
3. ความยืดหยุ่น (Flexibility) เป็นความคิดที่สามารถพลิกแพลงออกมาได้หลายลักษณะ ไม่คิดแบบนี้ก็ไปคิดอีกแบบหนึ่งก็ได้

4. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration) เป็นความคิดที่แตกต่างหรือหาทางควบคุมป้องกันสิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ลักษณะต่างๆของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
เมื่อกล่าวถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อาจกล่าวถึงได้ในลักษณะต่างๆกันถึง 3 ลักษณะคือ
1.1 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในลักษณะกระบวนการ (Creative Process) ตามลักษณะนี้ เป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและระบบ ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานทำงานของสมองอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ ขั้นตอนต่างๆของกระบวนการทำงานของสมองมีผู้เสนอไว้หลายแบบ ดังนี้
วอลลาส (Wollas อ้างถึงใน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2550 : 18) แบ่งขั้นตอนของกระบวนการเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นเตรียม (Preparation) เป็นขั้นเตรียมข้อมูลต่างๆ เช่นข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำหรือแนวทางเลือกที่ถูกต้องหรือข้อมูลระบุปัญหา หรือข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง
2. ขั้นฟักตัว (Incubation) เป็นขั้นอยู่ในความวุ่นวายของข้อมูลต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่สะเปะสะปะ ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สามารถจัดรูปแบบ หรือหมวดความคิดเป็นกลุ่มก้อนได้ จึงปล่อยความคิดไว้เงียบๆ
3. ขั้นความคิดกระจ่างชัด (Illumination) เป็นขั้นที่ความคิดสับสนได้ผ่านการเรียบเรียงและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้มีความกระจ่างชัดและเห็นภาพพจน์มโนทัศน์ของความคิด
4. ขั้นพิสูจน์ (Verification) เป็นขั้นตอนที่ได้รับความคิดจากขั้นตอนทั้งสามขั้นข้างต้น เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความคิดที่เป็นจริงและถูกต้อง
ทอแรนซ์และเมเยอร์ (Torrance and Mayer อ้างถึงใน ศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา, 2545 : 19) ได้แบ่งกระบวนการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การพบความจริง (Fact Finding) เป็นขั้นที่เริ่มตั้งแต่เกิดความกังวล มีความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นในใจ
2. การค้นพบปัญหา (Problem Finding) เป็นขั้นที่ได้พิจารณารอบคอบแล้วจึงเข้าใจและสรุปว่าความกังวลใจ ความสับสนวุ่นวายนั้นก็คือการเกิดปัญหาขึ้นนั่นเอง
3. การตั้งสมมุติฐาน (Idia Finding) เป็นขั้นพยายามคิดและตั้งสมมุติฐานขึ้น รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการทดสอบสมมติฐานในขั้นต่อไป
4. การค้นพบคำตอบ (Solution Finding) เป็นขั้นตอนการพบคำตอบที่ได้จากการทดสอบสมมติฐานในขั้นตอนที่ 3
5. การยอมรับผลจากการค้นพบ ( Acceptance Finding) เป็นการยอมรับคำตอบที่ได้จากการพิสูจน์เรียบร้อยแล้วว่า จะแก้ปัญหาสำเร็จได้อย่างไร และต่อจากจุดนี้จะนำไปสู่หนทางที่ทำไว้เกิดแนวคิดหรือสิ่งใหม่ต่อไป

1.2 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในลักษณะบุคคล (Creative Person) ตามลักษณะนี้เป็นการมองบุคคลที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จะมีลักษณะดังนี้
1. เป็นผู้ที่เผชิญกับปัญหาต่างๆ โดยไม่ถอยหนี รับประสบการณ์ต่างๆ โดยไม่หลีกเลี่ยงหรือหลบถอย
2. เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อความสุขของตนเอง มิใช่เพื่อหวังแค่ประเมินผล หรือการยกย่องจากบุคคลอื่น
3. มีความสามารถในการคิดและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ
ฟรอมม์ (Fromm อ้างถึงใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2545) กล่าวถึงลักษณะของคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไว้ว่า
1. มีความรู้สึกประหลาดใจที่ได้พบเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่น่าทึ่งน่าประหลาดใจ สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ หรือของใหม่ๆ
2. มีสมาธิสูง เป็นผู้ที่สามารถให้ความสนใจหรือมีสมาธิจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่สนใจได้เป็นเวลานานๆ ไม่วอกแวก เพื่อใช้เวลานั้นไตร่ตรองหรือคิดในเรื่องที่กำลังสนใจอยู่ 3. สามารถยอมรับสิ่งต่างๆได้ ยอมรับความไม่แน่นอน หรือสิ่งที่เป็นข้อขัดแย้งหรือตรึงเครียด
4. มีความเต็มใจที่จะทำสิ่งใหม่ๆ มีความกล้าหาญที่จะเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่ได้ทุกวัน
อนาตาสิ (Anatatasi อ้างถึงในอเนก ศรีภูมิ, 2550 : 18) กล่าวถึงผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จะต้องเป็นผู้ที่มีลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. มีความรู้สึกวัยต่อปัญหา
2. มองเห็นกาลไกล
3. มีความเป็นตัวของตัวเอง
4. มีความสามารถในการคิดหลายแง่หลายมุม
5. มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างคล่องแคล่ว
การิสัน (Garison อ้างถึงใน อเนก ศรีภูมิ. 2550 : 19) กล่าวถึงลักษณะของบุคคลที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไว้ว่า
1. เป็นคนที่สนใจปัญหา ยอมรับความเปลี่ยนแปลง กล้าเผชิญปัญหา กระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาและพยายามหาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ
2. เป็นคนที่มีความสนใจอย่างกว้างขวาง ทันต่อเหตุการณ์รอบด้าน สนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอ ยอมรับฟังความคิดเห็นที่มีสารประโยชน์ และนำข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงงานของตน
3. เป็นคนที่คิดชอบหาทางแก้ไขปัญหาไว้หลายๆทาง เตรียมทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาไว้มากกว่าหนึ่งเสมอเป็นการช่วยให้คล่องตัวประสบผลสำเร็จ
4. เป็นคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตดี มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นคนช่างซักถามจดจำเรื่องราวได้แม่น และสามารถนำข้อมูลที่จดจำได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ดี
5. เป็นคนที่ยอมรับและเชื่อมั่นในบรรยากาศและสภาพแวดล้อมว่ามีผลกระทบต่อความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จึงจัดบรรยากาศ และสถานที่ให้เหมาะกับการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และขจัดสิ่งรบกวนหรืออุปสรรคออกไป

1.3 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในลักษณะผลิตผล (Creative Product)
ตามลักษณะนี้เป็นการมองดูสิ่งที่เป็นผลิตผลจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งอาจได้เป็นทั้งรูปธรรม นามธรรม
นิวเวลล์ ชอว์ และซิมซัน (Newell Shaw and Simson อ้างถึงใน อเนก ศรีภูมิ, 2550:19) ได้กล่าวถึงหลักการพิจารณาว่าผลผลิตใดที่จะจัดเป็นผลผลิตจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ ดังนี้
1. เป็นผลิตผลที่แปลกใหม่ มีค่าต่อผู้คิด สังคม และวัฒนธรรม
2. เป็นผลิตผลที่ไม่เป็นไปตามปรากฏการณ์นิยม ในเชิงที่ว่ามีความคิดดัดแปลงหรือยกเลิกผลผลิต หรือความคิดที่เคยยอมรับกันมาก่อน
3. เป็นผลผลิตที่เกิดจากการที่ได้รับการกระตุ้นอย่างสูงและมั่นคงเป็นระยะเวลายาวหรือความพยายามอย่างสูง

ที่มาของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นหรือมีในบุคคลนั้น เมื่อพิจารณาถึงที่มาแล้วอาจจำแนกได้ ดังนี้
1. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นเพราะความจำเป็น ซึ่งแยกออกได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ความจำเป็น
2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เกิดจากความบังเอิญ
บ่อยครั้งที่ความบังเอิญก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยที่ไม่จงใจที่จะทำ แต่เมื่อผลงานปรากฏมามีความแปลกใหม่ สามารถแก้ปัญหาหรือใช้ได้ดี ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แบบนี้ก็ต้องอาศัยช่างสังเกตมากกว่าปกติ จึงจะเกิดแนวคิดที่เกิดจากความบังเอิญ เช่นคนโบราณทำเนื้อหล่นลงไปในกองไฟ เมื่อหยิบมากินก่อนที่จะไหม้พบว่ารสชาติดีขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการปิ้ง ย่างเนื้อให้สุกก่อนรับประทานในทุกวันนี้